ชื่อแหล่งโบราณคดี | ชุมชนโบราณบ้านคอนสวรรค์ |
ที่ตั้ง | หมู่ที่ ๘ ๙ และ ๑๑ ตำบลคอนสวรรค์ อำเภอคอนสวรรค์ จังหวัดชัยภูมิ |
รูปแบบศิลปกรรม | เมืองโบราณ |
อายุ | พุทธศตวรรษที่ ๑๔ – ๑๖ |
สถานะการขึ้นทะเบียน | – |
ข้อมูลเบื้องต้น | ชุมชนโบราณบ้านคอนสวรรค์หรือ “นครการหลง” หมู่ที่ ๘ ๙ และ ๑๑ ตั้งอยู่บนเนินดิน มีคูน้ำคันดินล้อมรอบ ๒ – ๓ ชั้น มีแผนผังรูปวงรีหรือค่อนข้างกลม ขนาดประมาณ ๕๐๐ x ๘๐๐ เมตรตามแบบเมืองสมัย ทวารวดีและตั้งอยู่ไม่ไกลจากแม่น้ำชีโดยมีลำน้ำสาขาเชื่อมถึงกัน จากหลักฐานทางโบราณคดีพบว่ามีการอาศัยมาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ ตำแหน่งที่ตั้งของชุมชนบ้านคอนสวรรค์ไม่เพียงแต่อยู่ใกล้นำชี ยังตั้งอยู่ไม่ไกลจากช่องเขาสามหมอ ช่องเขาที่สามารถติดต่อระหว่างเมืองต่างๆ ได้ แม่น้ำชีก็สามารถเชื่อมต่อเส้นทางคมนาคมทางตะวันตกลงเขาพังเหยสู่พื้นที่ลุ่มแม่น้ำป่าสักได้ ทางตะวันออกก็สามารถเชื่อมต่อไปถึงเมืองฟ้าแดดสงยางและเมืองโบราณอื่น ๆ ประวัติการก่อตั้งเมืองคอนสวรรค์หรือนครกาหลง เดิมนั้นเป็นเมืองเก่าโบราณ มีพื้นที่อุดมสมบูรณ์ มีพืชพันธุ์ธัญญาหาร ผลาหาร ปักษาหาร ผลไม้นานาชนิด นก กา บินผ่านเข้ามาหากินจนเพลินกับอาหาร ที่อุดมณ์สมบูรณ์จนลืมกลับรังจึงเป็นที่มาของชื่อเมือง “นครกาหลง” และสันนิษฐานว่าสร้างขึ้นพร้อมกับเมืองโคราช โดยผู้สร้างเมืองคอนสวรรค์หรือเมืองกาหลงคือ พระยาขุนหาญ ผู้ซึ่งเป็นญาติกับเจ้าเมืองโคราช สภาพภูมิศาสตร์ ชุมชนบ้านคอนสวรรค์ ตั้งอยู่ในจุดยุทธศาสตร์และเป็นชุมทางสำคัญของเส้นทางคมนาคมทั้งทางบกและทางน้ำ จากหลักฐานใบเสมาได้สะท้อนภาพของการติดต่อสัมพันธ์ระหว่างชุมชนได้เป็นอย่างดี ชุมชนโบราณสมัยทวารดีที่พบใบเสมาและตั้งอยู่ไม่ไกลจากบ้านคอนสวรรค์ – ทิศเหนือ ติดต่อกับชุมชนในเขตอำเภอเกษตรสมบูรณ์ และอำเภอภูเขียว เช่น บ้านพันลำ บ้านหัวขัว บ้านโนนฆ้อง บ้านแก้ง เป็นต้น – ทิศใต้ ติดต่อกับชุมชนโบราณบ้านกุดโง้ง บ้านเมืองเก่า บ้านเล่า อำเภอเมืองชัยภูมิ เมืองหามหอก อำเภอบ้านเขว้า และชุมชนโบราณบ้านกระทุ่มพระ อำเภอบำเหน็จณรงค์ จังหวัดชัยภูมิ – ทิศตะวันออก ติดต่อกับชุมชนชัยวาน อำเภอโพธิ์ชัย จังหวัดขอนแก่น และโบราณสถานโนนศิลาแลง อำเภอมัญจาคีรี จังหวัดขอนแก่น – ทิศตะวันตก มีพื้นที่ติดกับภูเขา ไม่พบชุมชนที่มีใบเสมา ชุมชนโบราณบ้านคอนสวรรค์เป็นชุมชนขนาดใหญ่ในสมัยทวารวดี ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๔ – ๑๖ เนื่องจากมีการพบหลักฐานทางโบราณคดีจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นร่องรอยแนวคูน้ำ – คันดิน ภาชนะดินเผาและ ที่สำคัญ คือ ใบเสมา ซึ่งถูกพบเห็นเป็นจำนวนมากและเป็นประจักษ์พยานอันแสดงให้เห็นถึงความรุ่งเรื่องของชุมชน รวมถึงความรุ่งเรืองในด้านศาสนา โดยลักษณะสำคัญของใบเสมาบ้านคอนสวรรค์คือความหลากหลายและมีภาพเล่าเรื่องขนาดใหญ่เต็มพื้นที่ ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะกลุ่ม หลักฐานทางโบราณคดีที่พบบริเวณชุมชนบ้านคอนสวรรค์ มีการพบหลักฐานที่แสดงถึงการอยู่อาศัยตั้งแต่สมัยก่อบนประวัติศาสตร์ตอนปลายหรือยุคเหล็ก ราว ๒,๐๐๐ – ๑,๕๐๐ ปีมาแล้ว จากการสำรวจมีการพบเศษภาชนะดินเผาเป็นจำนวนมาก เป็นภาชนะดินเผาเนื้อหยาบที่เผาด้วยอุณหภูมิต่ำ ส่วนใหญ่เป็นภาชนะผิวเรียบ บางชิ้นตกแต่งลายเชือกทาบ ขูดขีด เขียนสี ภาชนะขัดมันและภาชนะดินเผาบรรจุกระดูก นอกจากนี้ยังพบพระพุทธรูปยืนสมัยทวารดี จำนวน ๕ องค์ สลักจากหินทรายสีแดง มีสภาพชำรุดเหลือเพียงแต่ส่วนพระวรกาย ชาวบ้านได้ปั้นต่อพระเศียรและพระวรกายบางส่วนใหม่ ยกเว้นองค์หนึ่งมีขนาดใหญ่ สูงประมาณ ๓ เมตร มีสภาพสมบูรณ์แต่ยังสลักไม่เสร็จ ชาวบ้านเรียกพระพุทธรูปองค์นี้ว่า “หลวงพ่อใหญ่” หรือ “พระใหญ่ทวารวดี” ซึ่งเป็นที่เคารพศรัทธาของคนชัยภูมิ ภายหลังการสิ้นสุดวัฒนธรรมทวารดี พื้นที้บ้านคอนสวรรค์ยังมีการใช้พื้นที่ต่อเนื่องในสมัยวัฒนธรรมขอมราวพุทธศตวรรษที่ ๑๖ – ๑๘ โดยมีการพบชิ้นส่วนของเสากรอบวงกบประตูและชิ้นส่วนประกอบสถาปัตยกรรมบางชิ้นที่จัดอยู่ในอาคารเสมา ชิ้นส่วนพระเกศาของประติมากรรมแบบขอมม และภาชนะดินเผาเนื้อแกร่งเคลือบ สีน้ำตาลหรือที่เรียกกันว่าไหเขมร ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือห่างออกไปประมาณ ๒ กิโลเมตร มีโคกเนินดินขนาดเล็กที่พบศิลาแลงกระจายอยู่จำนวนหนึ่ง เมื่อสิ้นสุดวัฒนธรรมขอม บ้านคอนสวรรค์อาจถูกทิ้งร้างไประยะหนึ่ง จนกระทั่งในสมัยรัตนโกสินทร์ พบหลักฐานสำคัญคืออุโบสถหรือสิมวัดคอนสวรรค์ อายุราวพุทธศตวรรษที่ ๒๕ แสดงให้เห็นว่าอย่างน้อยในช่วงร้อยปีมานี้ ก่อนจะมีการตั้งอำเภอคอนสวรรค์ในปี พ.ศ. ๒๔๘๒ มีคนเข้ามาตั้งถิ่นฐานที่บ้านคอนสวรรค์ต่อเนื่องมาจนถึง ปัจจุบัน |
แหล่งอ้างอิง | กฤษฎา นิลพัฒน์. ประติมานวิทยาและภาพสะท้อนสังคมบนใบเสมาทวารวดีบ้านคอนสวรรค์ จังหวัดชัยภูมิ. วิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรบัณฑิต ภาควิชาประวัติศาสตร์ศาสตร์ศิลปะ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัย ศิลปากร, ๒๕๕๙. |