ชุมชนโบราณเมืองหามหอก

ชื่อแหล่งโบราณคดีชุมชนโบราณเมืองหามหอก
ที่ตั้งบ้านไร่หมู่ ๖ ตำบลลุ่มลำชี อำเภอบ้านเขว้า จังหวัดชัยภูมิ
รูปแบบศิลปกรรมเมืองโบราณ
อายุพุทธศตวรรษที่ ๑๒ – ๑๖ สมัยทวารวดี ต่อเนื่องถึงสมัยวัฒนธรรมขอมโบราณ พุทธศตววรษที่ ๑๖ – ๑๘ และสมัยวัฒนธรรมไ ท – ลาว พุทธศตวรรษที่ ๑๙ – ๒๓
สถานะการขึ้นทะเบียน๒ สิงหาคม ๒๔๗๙
ข้อมูลเบื้องต้นชุมชนโบราณเมืองหามหอก เป็นเนินดินรูปร่างค่อนข้างกลม ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ ๑ กิโลเมตร สูงจากระดับพื้นที่โดยรอบประมาณ ๓ เมตร ด้านนอกของเนินดินมีคูน้ำ – คันดินล้อมรอบหนึ่งชั้น เป็นแนวคูน้ำ – คันดินชั้นใน พื้นที่ถัดออกไปจากคูน้ำ – คันดินชั้นใน เป็นพื้นที่ราบลุ่มสภาพค่อนข้างโล่ง และมีคูน้ำ – คันดินล้อมรอบอีกหนึ่งชั้น เป็นแนวคูน้ำ – คันดินชั้นนอก พื้นที่รอบนอกถัดออกไปจากแนวคูน้ำ – คันดินชั้นนอกทางด้านทิศใต้ห่างออกไปประมาณ ๕ กิโลเมตร มีแม่น้ำชีไหลผ่าน และยังมีลำน้ำสายเล็กที่ไหลแยกออกจากลำน้ำสายหลักไหลผ่านใกล้ตัวชุมชนด้วย เช่นห้วยโป่ง หนองอ้อ คลองไผ่งาม ห้วยยางชุม สภาพปัจจุบันเป็นแนวคูน้ำ – คันดินชั้นนอกของชุมชนโบราณเมืองหามหอก ยังคงหินสภาพเป็นแนวติดต่อกันโดยรอบ มีต้นไม้และวัชพืชขึ้นปกคลุมคันดินอยู่หนาแน่น คันดินที่ยังสภาพอยู่นั้นมีความกว้างประมาณ ๑๐ เมตร สูงประมาณ ๖ – ๗ เมตร สภาพโดยรวมมีความสูงไม่สม่ำเสมอกัน ส่วนคูน้ำนั้นอยู่ทางด้านนอกของคันดิน มีความกว้างประมาณ ๑๐ เมตร แนวคูน้ำ – คันดินชั้นในของชุมชนโบราณเมืองหามหอกสภาพไม่ค่อยชัดเจนเหมือนชั้นนอก แต่ยังพอสังเกตได้โดยเฉพาะคูน้ำ – คันดินชั้นในที่อยู่ทางด้านทิศใต้ คูน้ำมีความกว้างประมาณ ๑๐ เมตร คันดินกว้างประมาณ ๖ เมตร ส่วนสูงของคันดินนั้นมีความสูงน้อยมาก มองเห็นได้ว่ามีความสูงอยู่ในระดับเดียวกันกับพื้นที่ที่อยู่โดยรอบ

การสำรวจและการขุดตรวจทางโบราณคดีเมื่อ พ.ศ. ๒๕๓๑ พบหลักฐานโบราณวัตถุที่แสดงกิจกรรมการอยู่อาศัยและการใช้พื้นที่บริเวณเมืองหามหอกของคนในอดีต ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๒ – ๑๖ สมัยทวารวดี ต่อเนื่องถึงสมัยวัฒนธรรมขอมโบราณ พุทธศตววรษที่ ๑๖ – ๑๘ และสมัยวัฒนธรรมไ ท – ลาว พุทธศตวรรษที่ ๑๙ – ๒๓ โดยสรุปข้อมูลได้ดังนี้

ชั้นวัฒนธรรมสมัยที่ ๑ ตรงกับสมัยทวารวดี พุทธศตวรรษที่ ๑๒ – ๑๖ พบหลักฐานสำคัญได้แก่ เศษภาชนะดินเผาจำนวนมาก เช่น เศษภาชนะดินเผาประเภทเนื้อดินธรรมดา ตกแต่งผิวด้วยลายเชือกทาบ เศษภาชนะดินเผาที่เคลือบผิวด้านนอกสีแดง และเศษภาชนะดินเผาขัดมันสีดำ ลูกกระสุนดินเผา พวยกาดินเผา แวดินเผา เศษดินเผาไฟ เศษเครื่องมือเครื่องใช้ที่ทำจากเหล็ก ซึ่งสภาพชำรุดแตกหัก ลักษณะรูปทรงของเครื่องเหล็กที่พบรูปร่างยาวส่วนปลายแหลม มีชิ้นหนึ่งที่มีลักษณะคล้ายกับใบมีด

ชั้นวัฒนธรรมสมัยที่ ๒ พบหลักฐาน เช่น เศษภาชนะดินเผาประเภทเนื้อดินธรรมดาที่มีปริมาณไม่มาก มีทั้งตกแต่งผิวด้วยลายเชือกทาบและไม่ตกแต่งผิว เศษดินเผาไฟ ฐานรองประติมากรรมรูปเคารพทำจากหินทราย เศษภาชนะดินเผาแบบเนื้อแกร่ง ส่วนมากมีการเคลือบผิวด้วยสีน้ำตาลแกมเขียว เคลือบสีเขียว และเคลือบสีขาว ซึ่งพบว่ามีการผลิตและใช้ประโยชน์กันมากในสมัยวัฒนธรรมขอมโบราณ พุทธศตววรษที่ ๑๖ – ๑๘ แท่งหินทรายซึ่งสันนิษฐานว่าน่าจะเป็นใบเสมาหินทรายในสมัยทวารวดี ตรงกับชั้นวัฒนธรรมสมัยที่ ๑ พุทธศตวรรษที่ ๑๒ – ๑๖ เป็นไปได้ว่าอาจมีบางชิ้นทำขึ้นในสมัยวัฒนธรรมไท – ลาว เช่นเดียวกันกับที่เคยพบว่ามีซากโบราณสถานที่ก่อสร้างด้วยอิฐ (ปัจจุบันเหลือเพียงเศษอิฐ) เป็นไปได้ว่าอาจจะเป็นศาสนสถานหรือสิ่งก่อสร้างที่สร้างขึ้นในสมัยวัฒนธรรมไท – ลาวพุทธศตวรรษที่ ๑๙ – ๒๓ จากหลักฐานและร่องรอยกิจกรรมของคนในอดีต ทำให้สามารถวิเคราะห์และสันนิษฐานอายุสมัยในชั้นวัฒนธรรมสมัยที่ ๒ ของเมืองหามหอกเพิ่มเติมว่า น่าจะมีกิจกรรมการอยู่อาศัยและใช้ประโยชน์ในพื้นที่เมืองหามหอกของคนในอดีต ในสมัยวัฒนธรรมขอมโบราณ พุทธศตวรรษที่ ๑๖ – ๑๘ ต่อเนื่องมาจนถึงสมัยวัฒนธรรมไท – ลาว พุทธศตวรรษที่ ๑๙ – ๒๓
แหล่งอ้างอิง
ปกิณกศิลปวัฒนธรรม เล่ม ๒๕ จังหวัดชัยภูมิ,  (กรุงเทพฯ : สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร, ๒๕๖๒), หน้า ๑๘๘ – ๑๘๙.
 

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

Scroll to top