ชื่อแหล่งโบราณคดี | ภาพเขียนสีถ้ำขาม |
ที่ตั้ง | บ้านวังน้ำอุ่น หมู่ ๙ ตำบลทุ่มนาเลา อำเภอคอนสาร จังหวัดชัยภูมิ |
รูปแบบศิลปกรรม | ภาพเขียนสี |
อายุ | ๓,๐๐๐ ปี |
สถานะการขึ้นทะเบียน | – |
ข้อมูลเบื้องต้น | แหล่งโบราณคดีภาพเขียนสีถ้ำขาม พบอยู่บริเวณหุบเขากับถ้ำด้านทิศใต้ของภูผักหนาม ช่วงที่พบภาพเขียนสีเป็นเพิงผา มีพื้นที่ในการเขียนภาพกว้างประมาณ ๒ เมตร ยาว ๔ เมตร สูงจากพิ้นดินตั้งแต่ ๑ – ๓ เมตร ภาพเขียนสีที่พบเขียนด้วยสีแดง ปนน้ำตาลบนพื้นหินสีเทาเข้มถึงสีดำ แสดงภาพเล่าเรื่องที่เกี่ยวกับคนและสัตว์รวมทั้งภาพลักษณ์ต่าง ๆ ภาพเขียนสีที่ปรากฏอยู่นั้น ภาพแรกอยู่ทางด้านซ้ายมือ เป็นภาพมือ แต่เห็นนิ้วเพียง ๔ นิ้ว ภาพถัดมาติดกับเพิงผาริมนอกเป็นภาพหมูป่า ถัดมาด้านขวา เป็นภาพกลุ่มใหญ่มีองค์ประกอบร่วมกันคือ เขียนภาพเป็นเส้นโค้งโดยที่ปลายเส้นโค้งด้านซ้ายมีรูปวงกลม ต่อจากรูปวงกลมเขียนเป็นเส้นริ้ว ๓ เส้น ต่อลงไปเป็นภาพมือเด็กข้างซ้ายและต่ำจากภาพมือลงไปเป็นภาพวงกลมอีก ๓ วง บนเส้นโค้งมีภาพสุนัข ๔ ตัว ยืนหันหน้าไปทางด้านซ้าย ต่ำลงมาจากกภาพสุนัขตัวที่ ๔ เป็นภาพวงกลม ใต้วงกลมด้านขวา มีภาพเส้นทึกรูปร่างไม่ชัดเจน ใต้วงกลมด้านซ้ายมีภาพลายเส้นสองภาพ รูปร่างไม่ชัดเจน ถัดไปด้านล่างทางขวามือมีเด็กยืนกางแขนที่มือข้างขวามีเส้นยาวออกไป บนเส้นมีภาพสัตว์คล้ายสุนัขยืนอยู่ ๒ ตัว ยืนหันหน้าไปทางทิศเดียวกัน คือหันไปทางด้านซ้าย เหนือภาพเด็ฏขึ้นไปทางขวามีภาพคนยืน ทิ้งแขนขนานลำตัว ใกล้แขนข้างซ้ายมีภาพลายเส้นเป็นวงโค้งซ้อนกัน ๓ วง ห่างออกไปทางด้านขวาของภาพนี้ เป็นภาพคนขนาดใหญ่ยืนตัวตรง กางแขน กางขา ตรงระหว่างขามีจุดวงกลมทึบ ซึ่งอาจหมายถึงอวัยวะเพศชาย และระหว่างปลายเท้าสองข้างมีจุดวงกลมทึบเช่นกัน ใต้มือข้างซ้ายมีภาพวงกลมทึบ ๗ วง เรียงกันอยู่ในแนวตั้งกำหนดอายุสมัยของภาพเขียนสีนี้อยู่ในยุคก่อนประวัติศาสตร์ สมัยเป็นชุมชนล่าสัตว์ – หาของป่า ประมาณ ๓,๐๐๐ ปีมาแล้ว |
แหล่งอ้างอิง | ปกิณกศิลปวัฒนธรรม เล่ม ๒๕ จังหวัดชัยภูมิ, (กรุงเทพฯ : สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร), ๒๕๖๒, หน้า ๑๘๔ – ๑๘๕. |