ชื่อหลักฐานทางศิลปกรรม | เสมาหินบ้านกุดโง้ง |
สถานที่พบ | บ้านกุดโง้ง ตำบลบุ่งคล้า อำเภอเมืองชัยภูมิ จังหวัดชัยภูมิ |
แหล่งศึกษาข้อมูล | อาคารจัดแสดงภายในวัดศรีปทุมคงคาราม |
รูปแบบศิลปกรรม | สมัยทวารวดี |
อายุ | พุทธศตวรรษที่ ๑๒ – ๑๕ |
สถานะการขึ้นทะเบียน | – |
ข้อมูลเบื้องต้น | ใบเสมาสมัยทวารวดี “ใบเสมา” ความหมายนี้ใช้เรียกแทนแผ่นหิน – แท่งหิน หรือ หลักหิน เป็นศิลปกรรมสมัยทวารวดี อายุราวพุทธศตวรรษที่ ๑๔ – ๑๖ มักพบตั้งตั้งอยู่ที่เพิงหิน หรือเนินดินโบราณสถานในเขตเมืองโบราณสมัย ทวารวดี มีทั้งการตั้งปักในลักษณะเป็นเอกเทศ หรือล้อมรอบเพื่อแสดงเป็นหลักเขตหรือเขตพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งสามารถนำไปเทียบเคียงกับใบเสมาที่ล้อมรอบอุโบสถในสมัยหลังได้ในระดับหนึ่ง รูปลักษณะของใบเสมาสมัยทวารวดีมีหลายรูปแบบ ทั้งแบบแผ่นหินธรรมชาติ แบบสลักแผ่นหินเรียบรูปทรงต่าง ๆ รวมถึงแบบแท่งหินทรงสี่เหลี่ยม หกเหลี่ยม แปดเหลี่ยม นอกจากนี้บางแผ่นยังมีการสลักลวดลายมงคลต่าง ๆ เช่นลายกลีบบัว ธรรมจักร สถูปตรงแกนกลางของใบตลอดจนการสลักเป็นภาพเล่าเรื่องชาดกและพุทธประวัติ ในส่วนของกลุ่มใบเสมาบ้านกุดโง้ง ตำบลบุ่งคล้า อำเภอเมืองชัยภูมิ จังหวัดชัยภูมิ มีการพบใบเสมาบริเวณเนินดิน ที่ตั้งหมู่บ้านและพื้นที่โดยรอบ มีการพบมากกว่า ๕๐ ใบ ทั้งแบบแผ่นเรียบและส่วนหนึ่งมีการสลักภาพเล่าเรื่องอย่างงดงาม และบางแผ่นมีการจารึกอักษรโบราณไว้ด้วย สำหรับใบเสมาบ้านกุดโง้ง มีการสลักภาพเล่าเรื่องชิ้นสำคัญ (บางแผ่น) คือ ใบเสมาสลักภาพเล่าเรื่อง “ภูริทัตชาดก” รูปลักษณะ เป็นแผ่นหินแบน ด้านบนสลักเป็นภาพบุคคลอยู่ด้านล่าง กำลังลากฉุดงูใหญ่ (นาค)ที่พันอยู่รอบลายผักกูด บริเวณด้านหลังของแผ่นเสมาจารึกอักษรโบราณ ขนาด กว้าง ๕๙ เซนติเมตร สูง ๑๔๗ เซนติเมตร หนา ๑๕ เซนติเมตร แปลความภาพ สันนิษฐานว่าเป็นการนำเนื้อหาจากชาดกสำคัญ เรื่อง “ภูริทัต” เป็น ๑ ใน ๑๐ ทศชาติ) เป็นเหตุการณ์ครั้งพราหมณ์ชั่ว กำลังฉุดลากพระภูริทัต (พระโพธิสัตว์เสวยพระชาติเป็นพญานาค จำศีลอยู่ที่จอมปลวก เพื่อนำไปแสดงให้ประชาชนดู อายุสมัย ศิลปทวารวดี อายุราวพุทธศตวรรษที่ ๑๔ – ๑๕ ใบเสมาสลักภาพเล่าเรื่อง “มหานารทกัสสปชาดก” รูปลักษณะ เป็นแผ่นหิน ปลายบนโค้งแหลมคล้ายกลีบบัว ตรงกลางด้านหน้าสลักเป็นภาพบุรุษยืน มีทรงผมเป็นทรงชฎามงกุฎ มือขวายกเสมอหน้าอก แสดงวิตรรกะมุทรา (แสดงธรรม) ส่วนมือซ้ายทอดแนบตัว บริเวณไหล่ขวามีไม้คานพาด ในลักษณะของการหาบสิ่งของ ด้ายปลายของไม้คานมีสายคล้องคนโทหรือหม้อน้ำห้อยอยู่ทั้งสองข้าง ฉากหลังสลักเป็นลวดลายคล้ายเมฆ นอกจากนี้ที่ด้านใต้หม้อน้ำด้านขวาในภาพ มีการจารึกอักษรโบราณอยู่ด้วย ขนาด กว้าง ๘๐ เซนติเมตร สูง ๑๔๖ เซนติเมตร หนา ๒๒ เซนติเมตร แปลความภาพ สันนิษฐานว่าเป็นการนำเนื้อหาจากชาดกเรื่อง มหานารทกัสสป (หรือพรหมนารทชาดก) มาสลักเป็นภาพเล่าเรื่อง โดยเป็นเหตุการณ์ครั้งที่มหาพรหมนารทจำแลงกายเป็นฤาษี เหาะลงมาจากสววรค์ เพื่อมาเทศนาสั่งสอนพระเจ้าอังคติราช ที่ไปหลงเชื่อชีเปลือย (คุณาชีวกกัสสปโครต) จนหลงไปในทางที่ผิด โดยลายด้านหลังพรหมนารท น่าจะหมายถึงก้อนเมฆ แสดงถึงการที่ท่านเหาะผ่านมาจากสวรรค์เบื้องบน |
แหล่งอ้างอิง | ปกิณกศิลปวัฒนธรรม เล่ม ๒๕ จังหวัดชัยภูมิ. กรุงเทพฯ : สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร, ๒๕๖๒. |