ชื่อการละเล่นพื้นเมือง | ตีคลีไฟ |
แหล่งศึกษาข้อมูล | บ้านหนองเขื่อง ตำบลกุดตุ้ม อำเภอเมืองชัยภูมิ จังหวัดชัยภูมิ |
รูปแบบศิลปกรรม | การละเล่นพื้นบ้าน |
อายุ | – |
สถานะการขึ้นทะเบียน | – |
ข้อมูล เบื้องต้น | การละเล่น ตีคลีไฟ เป็นการละเล่นที่ถูกหยิบยกขึ้นมาสร้างเป็นกีฬาพื้นบ้านอันเป็นเอกลักษณ์ของจังหวัดชัยภูมิ โดยเฉพาะชาวหนองเขื่อง ตำบลกุดตุ้ม อำเภอเมือง จังหวัดชัยภูมิถูกจัดขึ้นหลังช่วงออกพรรษาหรือช่วงฤดูหนาวของทุกปีเนื่องจากช่วงเวลานั้นถือเป็นช่วงที่ชาวบ้านต่างให้ความสนใจกันมากเพราะการเล่นตีคลีไฟเป็นการละเล่นที่ช่วยผ่อนคลายอารมณ์ สร้างความสนุกสนานและความภาคภูมิใจให้แก่คนในชุมชน ประวัติการละเล่นตีคลีไฟ ถือกำเนิดขึ้นมายาวนานเป็นระยะเวลากว่า ๑๐๐ ปี จากคำบอกเล่าในอดีต ก่อเกิดขึ้นโดยมีความสัมพันธ์กับการดำรงชีวิตของชาวบ้าน คือ การเป็นเกษตรกร ยุคสมัยนั้นชาวบ้านต้องไปทำไร่ทำนาหาเลี้ยงครอบครัว หลังกลับมาจากการทำงานชาวบ้านจะพากันมารออาบน้ำตามห้วย คลอง หนอง บึง แถวหมู่บ้านและในช่วงอากาศหนาวชาวบ้านต่างหากิจกรรมคลายหนาวระหว่างรออาบน้ำ จึงมีการนำเหง้าไม้ไผ่ตามหมู่บ้านมาตีลูกนุ่นที่มีน้ำหนักเบา ใครตีไปได้ไกลกว่าถือว่าคนนั้นชนะ การละเล่นดังกล่าวจึงถูกเรียกกันว่า “การตีโหลน” ต่อมาชาวบ้านมีการก่อกองไฟขึ้นเพื่อใช้ผิงและชาวบ้านยังคงมีการเล่นตีคลีตามปกติ แต่ทว่ามีการตีลูกนุ่นเข้าไปในกองไฟ ส่งผลให้ลูกนุ่นติดไฟ ชาวบ้านจึงนำออกมาตีเกิดเป็นประกายไฟอย่างสวยงาม ภายหลังการละเล่นตีคลีไฟจึงถูกพัฒนาจากตีคลีโหลนเปลี่ยนมานิยมเล่นตีคลีไฟ จนกระทั่งปี พ.ศ.๒๕๔๘ ถูกจัดตั้งให้เป็นการแข่งขันตีคลีไฟและสร้างเป็นประเพณีของคนท้องถิ่นเนื่องจากการละเล่นดังกล่าวเริ่มสูญหาย หน่วยงานต่าง ๆ และคนในท้องถิ่นได้เข้ามาช่วยสืบสานประเพณีตีคลีไฟ พัฒนาขึ้นมาเป็นงานประจำปีอย่างต่อเนื่องเพื่อให้คนรุ่นหลังได้ศึกษาเรียนรู้และเกิดความภาคภูมิใจในประเพณีท้องถิ่น อุปกรณ์การเล่น ๑. เหง้าไม้ไผ่ เหง้าไม้ไผ่ (ลักษณะแบบตะขอ) ยาวประมาณ ๑ เมตร หรือความยาวพอเหมาะกับผู้ใช้ไม้นั้น ๆ เพื่อใช้เป็นไม้ตี ๒. ลูกไม้ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางระหว่าง ๑๐ – ๑๕ เซนติเมตร และต้องเป็นไม้นุ่น (งิ้ว) หรือไม้จากต้นทองหลาง เนื่องจากมีน้ำหนักเบา สนามแข่งขัน ใช้สนามสี่เหลี่ยมผืนผ้า ขนาดเท่าสนามฟุตบอล โดยสนามจะใหญ่หรือเล็กขึ้นอยู่กับจำนวนผู้เล่น เช่น จำนวนผู้เล่นฝ่ายละ ๑๑ คน ใช้สนามฟุตบอลขนาดผู้เล่นฝ่ายละ ๑๑ คน หรือจำนวนผู้เล่นฝ่ายละ ๗คน ใช้สนามฟุตบอลขนาดผู้เล่นฝ่ายละ ๗ คน (ฟุตซอล) จำนวนผู้เล่น แบ่งเป็น ๒ ฝ่าย ฝ่ายละ ๑๑ คน หรือ ๗ คน หรือตามความเหมาะสม โดยก่อนการแข่งขัน ผู้เล่นฝ่ายละ ๑ คน ยืนพร้อมกันที่เส้นแบ่งครึ่งสนามและต้องใช้ไม้เคาะสลับกันไปมาเพื่อเป็นสัญญาณเริ่มการแข่งขัน วิธีการเล่น ๑. จะต้องตีลูกไม้ที่ติดไฟส่งต่อกันไปเข้าประตูฝ่ายตรงข้าม หากเข้าประตูจะถือเป็นคะแนนได้ ๑ ประตู (หลักการเดียวกันกับฮอกกี้ และกีฬาฟุตบอล) โดยมีผู้ป้องกันยืนอยู่ที่ประตู ไม่ให้ฝ่ายตรงข้ามดีลูกไฟเข้าประตู ๒. ผู้เล่นจะตีลูกไฟได้ โดยไม้ที่ตีจะต้องไม่เกินระดับเอว หากตีสูงเกินกว่านี้จะถือเป็นการผิดกติกา ฝ่ายตรงข้ามจะได้ตั้งลูกเล่น ณ จุดที่ทำผิดกติกา ๓. ผู้ใดที่ตีลูกออกนอกเขตสนาม ฝ่ายตรงข้ามจะนำลูกไฟ บนเส้น ณ จุดที่ออก แล้วเล่นต่อ (เหมือนการเล่นกีฬาฟุตซอล) ๔. ผู้เล่นจะใช้อวัยวะส่วนใดของร่างกายเล่นไม่ได้ จะถือว่าเล่นผิดกติกา ยกเว้นผู้เล่นที่ทำหน้าที่รักษาประตู ทุกส่วนของร่างกายใช้ถูกลูกหรือเล่นลูกได้ เวลา แบ่งการแข่งขันอออกเป็น ๒ ช่วง ช่วงละ ๑๕ นาที มีเวลาพักครึ่งไม่เกิน ๑๐ นาที |
แหล่งอ้างอิง | ชาวชัยภูมิร่วมใจจัดประเพณีโบราณสุดมหัศจรรย์ “ตีคลีไฟ” หนึ่งเดียวในโลก, สยามรัฐออนไลน์, สืบค้นจาก https://siamrath.co.th/n/122508, (เข้าถึงเมื่อ ๔ มกราคม ๒๕๖๕). “เที่ยวชัยภูมิ” ชมมหัศจรรย์ประเพณีตีคลีไฟ – โต้ลมหนาวชมธรรมชาติที่มอหินขาว, เดลินิวส์ออนไลน์, สืบค้น จาก https://www.dailynews.co.th/news/599307/, (เข้าถึงเมื่อ ๔ มกราคม ๒๕๖๕). ประวัติตีคลีไฟ, องค์การบริหารส่วนตำบลกุดตุ้ม อำเภอเมือง จังหวัดชัยภูมิ [ออนไลน์], สืบค้นจาก http://www.kodtum.go.th/data.php?content_id=12, (เข้าถึงเมื่อ ๔ มกราคม ๒๕๖๕). |