ประเพณีบุญกระธูป

ชื่อประเพณีบุญกระธูป
ที่ตั้งอำเภอหนองบัวแดง
รูปแบบศิลปกรรมประเพณีท้องถิ่น
อายุไม่ปรากฏแน่ชัด
สถานะการขึ้นทะเบียน
ข้อมูลเบื้องต้นประเพณีบุญกระธูปเป็นประเพณีที่เกิดจากภูมิปัญญาของคนในท้องถิ่น จังหวัดชัยภูมิอย่างแท้จริง โดยเฉพาะในเขตอำเภอหนองบัวแดง ซึ่งมีความเชื่อ ความศรัทธา พิธีกรรม ขนบธรรมเนียม ประเพณี วัฒนธรรมรวมไปถึงการดำเนินชีวิตสัมพันธ์กับพระพุทธศาสนาเป็นอย่างมาก การแห่กระธูปเป็นคติความเชื่อโดยมองว่าเป็นการสร้างความร่มเย็นอันยิ่งใหญ่ใต้ร่มพระพุทธศาสนา โดยต้นกระธูปเป็นสัญลักษณ์แทนต้นหว้า ต้นไม้ประจำชมพูทวีป อันมีบันทึกไว้ในหนังสือฎีกาพระมาลัยสูตรว่าลักษณะของต้นกระธูปมีความยาวประมาณ ๕๐ โยชน์ มีกิ่งใหญ่ ๔ กิ่ง แผ่ออกไป ๔ ทิศทาง กว้างเป็นมณฑลทั้งได้ ๑๐๐ โยชน์ อันสื่อความหมายถึง พระพุทธศาสนานี้เป็นที่ร่มเย็นแก่ สรรพสัตว์ทั้งหลาย เปรียบเอาต้นกระธูปนี้จุดแล้วย่อมส่งกลิ่นหอมฟุ้งขจรขจายไปยังทิศต่าง ๆ ทำให้เกิดความสุข เป็นคุณค่าทางจิตใจ และเพื่อบูชาองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าในวาระที่พระองค์เสด็จลงมาจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ภายหลังจากโปรดพุทธมารดา

ประเพณีแห่บุญกระธูปก่อเกิดขึ้นเมื่อใดไม่แน่ชัด ตามประวัติพบว่า ในปีพุทธศักราช ๒๕๓๒ ชาวบ้าน หมู่บ้านราษฎรดำเนิน ตำบลหนองบัวแดง จังหวัดชัยภูมิ ได้ฟื้นฟูการแห่กระธูปถวายวัดในวันออกพรรษา ต่อมาปี พุทธศักราช ๒๕๔๕ เทศบาลตำบลหนองบัวแดง ได้เล็งเห็นความสำคัญและมีแนวคิดจัดงานประเพณีบุญแห่กระธูป โดยนำแนวความคิดมาจากชาวบ้านในหมู่บ้านราษฎรดำเนินมาจัดเป็นประเพณีประจำปีของอำเภอหนองบัวแดง เพื่อเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวและการอนุรักษ์วัฒนธรรมเป็นประเพณีประจำท้องถิ่น

ขั้นตอนการทำต้นกระธูป เริ่มจากเอาขุยมะพร้าวมาผสมกับฝุ่นผงหอมของใบอ้ม ใบเนียม แล้วห่อด้วยกระดาษเข้ารูปยาวเหมือนธูป นำกระดาษสีมาตัดแปะเป็นลวดลายให้สวยงาม ส่วนใหญ่นิยมแบบลายไทยเช่นเดียวกับลายมัดหมี่ แล้วนำธูปที่ได้มาติดกับดาวที่ทำจากใบลาน มามัดติดกับคันไม้ไผ่ที่มีลักษณะคล้ายคันเบ็ด แล้วเอาไปเสียบไว้กับแกนไม้ไผ่ที่เตรียมไว้ ความสูงประมาณ 3 – 5 เมตร หรือมากกว่านั้น ขึ้นทรงคล้ายฉัตร พร้อมกับเอาลูกดุมกา ลักษณะคล้ายส้ม แต่มีเปลือกแข็งมาผ่าเป็นสองซีก ใส่น้ำมันพืชลงไปแล้วขวั้นด้ายเป็นรูปตีนกาเพื่อจุดไฟให้แสงสว่างใต้ต้นกระธูป แต่ในระยะหลังเริ่มมีการนำธูปสำเร็จรูปมาใช้แทนเพื่อความสะดวกรวดเร็ว

ประเพณีแห่บุญกระธูปจัดขึ้นในช่วงออกพรรษา โดยมีความสอดคล้องกับความเป็นมาของประเพณีฮีตสิบสอง ซึ่งถือเอาช่วงก่อนวันออกพรรษา ๓ วัน คือ ขึ้น ๑๒ – ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑ ของทุกปี ก่อนเทศกาลจะเริ่มผู้นำชุมชนร่วมกับชาวบ้านจะมีการจัดทำต้นกระธูปเพื่อจุดถวายพุทธบูชา โดยทำจากใบปอสา ขุยมะพร้าว ใบอ้ม ใบเนียมที่มีกลิ่นหอมตามธรรมชาติและจัดเตรียมต้นกระธูปหลากหลายขนาด ขนาดเล็กมีความสูงไม่เกิน ๓ เมตร ขนาดใหญ่มีความสูงไม่เกิน ๖ เมตร

รูปแบบงานแห่กระธูปนั้นประกอบไปด้วยการแห่กระธูป ขบวนนางรำ ธิดากระธูป การแสดงดนตรี การนำเสนอสินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ การประกวดกระธูปสวยงาม การแสดงพื้นบ้าน และมหรสพสมโภชกลางคืน ซึ่งในแต่ละส่วนของงานถือเป็นเอกลักษณ์อีกอย่างหนึ่งที่ช่วยส่งเสริมให้งานแห่กระธูปมีความโดดเด่นและยิ่งใหญ่ ผนวกกับการสนับสนุนของหน่วยงานภาครัฐที่ต้องการผลักดันให้ประเพณีการแห่กระธูปเป็นเอกลักษณ์ของชาวหนองบัวแดงและชาวชัยภูมิ เป็นเทศกาลที่สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวเข้ามาร่วมชมกัน ที่สำคัญคนในท้องถิ่นได้เข้ามามีส่วนร่วมในการนำเสนอภูมิปัญญาของที่ตนสร้างไว้จนเกิดเป็นมูลค่าทางวัฒนธรรมสืบทอดกันต่อไป
แหล่งอ้างอิงพระมหาสังคม ชยานนฺโท, “กระบวนการอนุรักษ์ประเพณีท้องถิ่นอีสาน : ศึกษากรณีบุญแห่กระธูปของชุมชน
อำเภอหนองบัวแดง จังหวัดชัยภูมิ,” Journal of Modern Learning Development, ปีที่ ๕ ฉบับที่ ๖ (พฤศจิกายน – ธันวาคม ๒๕๖๓) : ๑๖๐ – ๑๗๔.
.
“แห่กระธูป” จ.ชัยภูมิ งดงามหลากสีสัน งานบุญโฮมออกพรรษาหนึ่งเดียวในไทย, MGRONLINE, สืบค้นจาก
https://mgronline.com/travel/detail/9580000117887, (เข้าถึงเมื่อ ๒๔ มกราคม ๒๕๖๕).
.
โฮมบุญออกพรรษา “แห่กระธูป”, posttoday, สืบค้นจาก
https://www.posttoday.com/life/travel/185971, (เข้าถึงเมื่อ ๒๔ มกราคม ๒๕๖๕).

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

Scroll to top