ปรางค์กู่


ชื่อแหล่งโบราณคดีปรางค์กู่
ที่ตั้งบ้านหนองบัว ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดชัยภูมิ
รูปแบบศิลปะกรรมศิลปะขอมแบบบายน
อายุพุทธศตวรรษที่ ๑๘
สถานะการขึ้นทะเบียน๒ สิงหาคม ๒๔๗๙
ข้อมูลเบื้องต้นปรางค์กู่ บ้านหนองบัว ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดชัยภูมิ เป็นโบราณสถานที่ถูกสร้างขึ้นตามรูปแบบสถาปัตยกรรมขอมโบราณ แบบบายนในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๘ ตรงกับกษัตริย์ขอมคือพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ แห่งอาณาจักรขอม (พ.ศ. ๑๗๒๔ – ๑๗๖๑) ซึ่งมีพระราชดำริในการสร้างอโรคยศาลหรือศาสนสถานประจำสถานพยาบาลอีกแหล่งหนึ่ง ซึ่งมีความสัมพันธ์กับปรางค์กู่บริเวณอื่นอีกจำนวน ๑๐๒ แห่ง ทั่วราชอาณาจักร โดยสร้างขึ้นเพื่อเป็นพื้นที่บำบัดทุกข์บำรุงสุขของประชาชน

ปรางค์กู่ ถูกสร้างขึ้นภายใต้คติความเชื่อของพระพุทธศาสนานิกายมหายาน คือ พระโพธิสัตว์ไภษัชยคุรุไวฑูรยประภา พระพุทธเจ้าแห่งการแพทย์ นอกจากนี้ยังมีการค้นพบศิลาจารึกประจำอโรคยศาล จารึกข้อความทั้ง ๔ ด้าน โดยมีการจารึกด้วยอักษรขอม เป็นภาษาสันสกฤต รายละเอียดเป็นการกล่าวถึงการแสดงความนอบน้อมแก่พระพุทธเจ้าและพระโพธิสัตว์ไภษัชยคุรุไวฑูรประภา รวมทั้งกล่าวถึงเจ้าหน้าที่ประจำสถานพยาบาลในแผนกต่าง ๆ

จากการสำรวจพังพบว่าปรางค์กู่ศาสนสถานที่ก่อสร้างด้วยศิลาแลงและหินทรายมีปราสาทประธานตั้งอยู่ตรงกลาง บริเวณหน้าปราสาทเป็นลานพลับเพลาซึ่งใช้สำหรับการประกอบพิธีกรรมต่าง ๆหันหน้าไปทางทิศตะวันออกมีบรรณาลัยอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของปราสาทประธาน ด้านหน้าปราสาทมีกำแพงแก้วล้อมรอบอคารทั้งหมด โดยมีซุ้มประตูทางเข้าหรือคุโรปะอยู่ทางด้านหน้า ซึ่งเป็ฯเสมือนทางเข้าออกนอกกำแพง และมีสระน้ำตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ

ปรางค์กู่เป็นโบราณสถานที่มีรูปแบบทางด้านศิลปกรรมโดดเด่น พบหลักฐานที่สำคัญคือการสลักภาพทับหลัง จำนวน ๔ ชิ้น ได้แก่

ทับหลังชิ้นที่ ๑ ทับหลังเหนือกรอบประตูหลอกด้านเหนือของปราสาทประธาน หลักภาพหน้ากาลเอามือยึดขาสิงห์ที่ยืนเอียงตัวหันหน้าออก มือถือท่อนพวงมาลัยห้อยตกลงมา เหนือหน้ากาลสลัก ภาพพระพุทธเจ้าประทับนั่งสมาธิภายในซุ้มเรือนแก้ว ที่เสี้ยวของทับหลังมีพวงอุบะแบ่งเสี้ยว เสี้ยวเหนือพวงอุบะด้านซ้ายมือของภาพพระพุทธเจ้า สลักภาพพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร ๔ กร ประทับยืนอยู่ในซุ้มท่ามกลางลายใบไม้ม้วนตั้งขึ้น ส่วนด้านขวามือของทับหลังภาพสลักเลือนราง ลักษณะคล้ายสลักยังไม่แล้วเสร็จ เห็นเพียงโครงร่างของเส้นโค้งวงกลมและกรอบซุ้มทรงสามเหลี่ยม

ทับหลังชิ้นที่ ๒ ทับหลังเหนือกรอบประตูทางเข้าหลักด้านตะวันออกสู่ห้องภายในปราสาทพระประธาน สลักภาพใบไม้ในรูปทรงสามเหลี่ยมตั้งขึ้น โดยม้วนจากด้านล่างหันปลายเข้าสู่ส่วนกลาง ข้างละ ๕ ใบ ที่กึ่งกลางทับหลังเป็นภาพค่อนข้างเลือนลาง พิจารณาจากลักษณะเค้าโครงของเส้น สันนิษฐานว่าสลักเป็นภาพหน้ากาล เหนือหน้ากาลเป็นภาพพระพุทธเจ้าประทับนั่งสมาธิภายในซุ้ม ลักษณะเช่นเดียวกันกับทับหลังเหนือกรอบประตูหลอกด้านเหนือของปราสาทประธาน และทับหลังเหนือกรอบประตูหลอกด้านเหนือปราสาทประธาน และทับหลังเหนือกรอบประตูด้านตะวันออกห้องมุขปราสาทประธาน

ทับหลังชิ้นที่ ๓ ทับหลังเหนือกรอบประตูด้านตะวันออกห้องมุขปราสาทประธาน สลักเป็นภาพใบไม้ม้วน ตั้งขึ้น ๔ ใบ มีหน้ากาลสลักเป็นภาพพระพุทธเจ้าประทับนั่งสมาธิภายในซุ้ม

ทับหลังชิ้นที่ ๔ ทับหลังเหนือกรอบประตูทางเข้าหลักด้านตะวันตกอาคารหรือบรรณาลัย สลักภาพตอนเกษียรสมุทร


แหล่งอ้างอิงนภสินธุ์ บุญล้อม, องค์ความรู้เรื่อง…ภาพสลักทับหลังโบราณสถานปรางค์กู่ อำเภอเมืองชัยภูมิ จังหวัดชัยภูมิ, สำนักงานศิลปกรที่ ๑๐ [ออนไลน์], สืบค้นจาก https://www.finearts.go.th/fad10/view/22886, (เข้าถึงเมื่อวันที่ ๑๕ ธันวาคม ๒๕๖๔).
.
ปกิณกศิลปวัฒนธรรม เล่ม ๒๕ จังหวัดชัยภูมิ. กรุงเทพฯ : สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร, ๒๕๖๒.

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

Scroll to top