กู่แดง

ชื่อแหล่งโบราณคดีกู่แดง
ที่ตั้งบ้านกุดยาง หมู่ 3ตำบลตลาดแร้ง อำเภอบ้านเขว้า จังหวัดชัยภูมิ
รูปแบบศิลปะกรรมศิลปขอมโบราณแบบบาปวน
อายุปลายพุทธศตวรรษที่ ๑๖ – ต้นพุทธศตวรรษที่ ๑๗
สถานะการขึ้นทะเบียน๑๘ พฤศจิกายน ๒๕๒๕
ข้อมูลเบื้องต้นกู่แดง หรือ กู่แดงบ้านกุดยาง ตั้งอยู่ที่บ้านกุดยาง หมู่ ๓ ตำบลตลาดแร้ง อำเภอบ้านเขว้า จังหวัดชัยภูมิ เป็นโบราณสถานที่สร้างขึ้นตามรูปแบบสถาปัตยกรรมขอมโบราณ ปลายพุทธศตวรรษที่ ๑๖ – ต้นพุทธศตวรรษที่ ๑๗ เป็นรูปแบบศิลปะในสมัยบาปวนต่อเนื่อไปจนถึงรูปแบบศิลปะสมัยนครวัด

กู่แดง มีแผนผังเป็นปราสาทหลังเดียว หันหน้าไปทางทิศตะวันออก ตั้งอยู่บนฐานศิลาแลงรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส ขนาด ๑๓ x ๑๓ เมตร สูงจากพื้นดินประมาณ ๒.๓๐ เมตร ฐานก่อสร้างด้วยศิลาแลงเป็นบันไดทางขึ้น ๓ ด้าน ยกเว้นด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือจากส่วนฐานขึ้นไปยังชั้นเรือนธาตุ โดยฐานส่วนล่างมีการก่อสร้างด้วยหินทรายสีแดง (ชมพู) ส่วนตัวผนังนั้นก่อสร้างด้วยอิฐความสูงประมาณ ๐.๘๐ – ๑.๖๐ เมตร ซุ้มประตูก่อสร้างด้วยอิฐและหินทราย ชั้นเรือนธาตุมีห้องครรภคฤหะอยู่ตรงกลาง ลักษณะเป็นผังรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสขนาด ๓ x ๓ เมตร มีจตุรมุขยื่นออกไปทั้ง ๔ ด้าน สภาพปัจจุบันหลักฐานส่วนผนังของปราสาทอยู่ในสภาพพังทลาย แต่ยังคงเเหลือส่วนซุ้มประตูที่ยังคงสภาพเดิมไว้ให้ศึกษา เหนือชั้นเรือนธาตุเป็นส่วนยอดของปราสาท ปัจจุบันพังทลายหมดสิ้น ห่างออกไปจากปราสาทด้านทิศตะวันออกประมาณ ๒๑ เมตร พบร่องรอยของกลุ่มหลุมเสาทรงกลมบนลานหินทราย จำนวน ๒๙ หลุม ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางของหลุมประมาณ ๔๔ – ๔๕ เซนติเมตร ลึกประมาณ ๑๐ – ๕๐ เซนติเมตรแต่งต่างกันไป

หลักฐานสำคัญที่ถูกค้นพบบริเวณกู่แดง ได้แก่ ทับหลังสลักภาพประดับตกแต่งจำนวน ๕ ชิ้น มีรายละเอียดคือ

ทับหลังเหนือกรอบประตูจตุรมุข ด้านทิศตะวันออก สลักภาพรามมยกทัพหรือพระราม เสร็จกลับจากอโยธยา รูปแบบศิลปะในสมัยนครวัด (อายุประมาณ พ.ศ. ๑๖๕๐ – ๑๗๒๐) ภาพสลักค่อนข้างชำรุด ไม่อาจสันนิษฐานได้ว่าเป็นเหตุการณ์ในช่วงใด ระหว่างตอนยกทัพมุ่งสู่กรุงลงกาเพื่อชิงนางสีดาคืน หรือตอนยกทัพกลับอโยธยา

ทับหลังเหนือซุ้มประตูห้องครรภคฤหะ ด้านทิศตะวันออกสลักภาพนารายณ์บรรทุมสินธุ์ รูปแบบศิลปะในสมัยนครวัด (อายุประมาณ พ.ศ. ๑๖๕๐ – ๑๗๒๐) “นารายณ์บรรทม” หรือ “วิษณุอนันตศายินปัทมนาภิณ” แสดงภาพนารายณ์เกี่ยวกับการกำเนิดของโลกและจักรวาล พระนารายณ์บรรทมประทับอยู่เหนือพยาอนันตนาคราชในเกษียรสมุทร (ทะเลน้ำนม) หลังจากที่โลกถูฏทำลายเมื่อสิ้นกัลป์พระลักษมีพระชายาประทัพอยู่ที่เบื้องพระบาท ระหว่างนั้นพระพรหม พระพรหมได้กำเนิดจากดอกบัวที่ผุดขึ้นมาจากพระนาภี (สะดือ) ของพระนารายณ์เพื่อสร้างโลกและสรรพสิ่งทั้งปวง

ทับหลังเหนือกรอบประตูจตุรมุขทิศใต้ สลักภาพกฤษณะประลองกกำลัง เป็นรู)แบบศิลปะแบบบาปวน (อายุประมาณ พ.ศ.๑๕๖๐ – ๑๖๗๐) ภาพสลักเหตุกาณ์ตอนพระกฤษณะจับสัตว์ไว้ด้วยพระหัตถ์ข้างละตัว ข้างหนึ่งเป็นรูปช้าง ซึ่งหมายถึงช้างกุวัลยปีถะ อีกข้างเป็นรูปสิงห์หมายถึง อสูรวัตสะซึ่งแปลงเป็นวัวเพื่อหาโอกาสทำร้ายพระกฤษณะ
แหล่งอ้างอิงปกิณกศิลปวัฒนธรรม เล่ม ๒๕ จังหวัดชัยภูมิ.  กรุงเทพฯ : สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร,
๒๕๖๒.

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

Scroll to top