ชื่อการละเล่นพื้นเมือง | สะบ้า |
แหล่งศึกษาข้อมูล | ที่ว่าอำเภอคอนสาร จังหวัดชัยภูมิ โรงเรียนบ้านนาเกาะ ต.ทุ่งนาเลา อ.คอนสาร จ.ชัยภูมิ นายบุญเกิด แพงจันทร์ (ผู้รวบรวมกติกาการละเล่นสะบ้า) |
รูปแบบศิลปกรรม | การละเล่นพื้นบ้าน |
อายุ | ไม่ปรากฏศักราชแน่ชัด – แต่หากมีการอธิบายว่าสืบทอดกันมาตั้งแต่สมัยปู่ ย่า ตา ยาย ในช่วงการก่อตั้งเมืองคอนสาร |
สถานะการขึ้นทะเบียน | – |
ข้อมูล เบื้องต้น | สะบ้า เป็นพืชไม้เลื้อยขึ้นตามป่าดงดิบ ผลสามารถนำมาใช้สุมไฟบดเข้าเครื่องยา แก้ตัวร้อน เป็นไข้ มะเร็ง รักษาโรคผิวหนัง เมล็ดแก่สามารถนำมาใช้เป็นอุปกรณ์สำหรับการละเล่นได้แก่ สะบ้า มะนิม หมากงิม สะบ้ามอญ สะบ้าช้าง มะบ้า เป็นต้น การละเล่นสะบ้าไทคอนสาร จากคำบอกเล่าถึงการละเล่นสะบ้าของไทคอนสารนั้นไม่มีระยะเวลาปรากฏที่ชัดเจนถึงจุดเริ่มต้น เพียงแต่มีการกล่าวว่าปู่ ย่า ตา ยายรุ่นบรรพชนเล่นมาสมัยเด็ก จึงสันนิธานได้ว่าการเล่นสะบ้ามีมาตั้งแต่แรกตั้งเมืองคอนสาร อาจสรุปได้ว่าการละเล่นสะบ้าอาจเป็นธรรมเนียมที่ติดตัวจากถิ่นเดิมของบรรพบุรุษที่อพยพเข้ามา ในยุคสมัยต่อมา การละเล่นสะบ้าไทคอนสารเริ่มถูกละเลย โดยเป็นผลมาจากยุคสมัยที่เปลี่ยนไป ผู้คนต่างให้ความสำคัญกับการละเล่นสะบ้าน้อยลง จนกระทั่ง ปี ๒๕๓๘ ชาวคอนสารร่วมกันสร้างอนุสาวรีย์หมื่นอร่ามกำแหง ในงานเปิดอนุสาวรีย์ คณะกรรมการจัดงานมองเห็นความสำคัญของสะบ้าว่าเป็นการละเล่นที่พบเห็นเป็นส่วนน้อยและถือเป็นเอกลักษณ์ของคนคอนสาร จึงทำการรื้อฟื้นการละเล่นสะบ้าอีกครั้งโดยนำกลับเข้ามาเป็นกิจกรรมส่วนหนึ่งของงานบุญเดือน ๔ โดยจัดการแข่งขันการเล่นสะบ้าขึ้น มีทีมเข้าร่วมทั้งจากตำบลและหมู่บ้านต่าง ๆ เข้าร่วมแข่งขันกัน การจัดงานจะอยู่ในช่วงหลังฤดูเก็บเกี่ยวข้าวเสร็จและเริ่มเล่นระหว่างวันขึ้น ๑ – ๓ ค่ำ เดือน การละเล่นสะบ้าโกบโก้และสะบ้ายิง เป็นการละเล่นที่เป็นที่รู้จักของไทคอนสาร จังหวัดชัยภูมิ พบเห็นมาตั้งแต่อดีตโดยที่ สะบ้าโกบโก้ เป็นการเล่นสะบ้าขาเดียวเหมือนกับสะบ้ายิง คือ ขัด โคน แถ และเซิง ทว่าวิธีการเล่นแต่ละขั้นไม่เหมือนสะบ้ายิงคือ ๑) ขั้นขัด ต้องเขย่งขาเดียวแล้วนำสะบ้าไว้ในอุ้มมือที่ประกบกันจากนั้นเขย่งขาเดียวไปวางให้ถูกสะบ้าคู่ต่อสู้ให้ล้ม ๒) ขั้นโคน นำสะบ้าหนีบไว้ที่ขาพับ จากนั้นผู้เล่นต้องเขย่งขาเดียวเพื่อวางสะบ้าให้ถูกคู่ต่อสู้ให้ล้ม ๓) ขั้นแถะ นำสะบ้าใส่ไว้บริเวณข้อศอกพับและลเขย่ขาเดียวไปวางสะบ้าให้ถูกคู่ต่อสู้ให้ล้ม ๔) ขั้นเซิง วางสะบ้าไว้ที่เท้าข้างที่งอไว้ไม่ให้ถูกดิน จากนั้นเขย่งขาเดียวไปวางสะบ้าให้ถูกสะบ้าคู่ต่อสู้ให้ล้ม สะบ้ายิง ปัจจุบันเป็นที่นิยมเล่นสำหรับไทคอนสารเป็นอย่างมาก และใช้เป็นการแข่งขันกันในงานบุญเดือน ๔ ประเพณีไทคอนสารเป็นประจำทุกปี สถานที่จัดส่วนใหญ่เป็นที่ว่าการอำเภอคอนสารและลานวัดเจดีย์ ขั้นตอนในการเล่น การแข่งขันสะบ้าต้องมีผู้เล่นอย่างน้อย ๒ คนขึ้นไปและต้องมีลูกสะบ้าคนละ ๑ ลูก ก่อนการเล่นต้องมีการ ตรวจสะบ้าของผู้เข้าแข่งขันว่ามีการอัดตะกั่ว (สูด) หรือไม่และมีการตกลงเรื่องลำดับการเล่น กำหนดระยะห่างจากจุดตั้ง ระยะขอบเขตความไกลให้ชัดเจน สำหรับการเล่นสะบ้าแต่ละขั้นตอนจะมีวิธีเล่นไม่เหมือนกันและมีศัพท์เฉพาะที่ใช้ในการแข่งขันเป็นภาษาถิ่น ขั้นตอนการเล่น ๔ ขั้นตอน คือ ๑) การขัด ขั้นแรกของการแข่งขัน โดยผู้เล่นจะต้องใช้นิ้วชี้เกี่ยวสะบ้าตามความกว้างของสะบ้าอยู่ที่หรือจุดเริ่มต้นการเล่น ขัดแล้วปั่นให้สะบ้าหมุนออกมาเมื่อสะบ้าหยุดที่จุดใดให้เริ่มยิงสะบ้าที่จุดนั้น โดยนั่งลงวางสะบ้าบนเข่า แล้วใช้มือดึงนิ้วชี้หรือนิ้วกลางที่ถนัดวางด้านหลังสะบ้า แล้วปล่อยนิ้วให้ดีดสะบ้าออกจากเข่าให้ไปถูกสะบ้าคู่ต่อสู้แรง ๆ ให้กระเด็นออกจากจุดตั้งตามที่กำหนดไว้ เรียกว่า ได้ (ผ่าน) แต่ถ้าถูกสะบ้าคู่ต่อสู้แล้วกระเด็นออกจากจุดตั้งไม่ถึงจุดที่กำหนดไว้ เรียกว่า ตาย (ไม่ผ่าน) ต้องรอดูผู้ร่วมทีมว่ายิงได้หรือตาย ถ้ายิงได้มีสิทธิ์เล่นต่อไป ได้ทั้งทีม และต้องยิง สะบ้าใช้ อยู่ตรงไหนต้องยิงตรงนั้น ถ้าทั้งทีมยิงได้ทุกคนแล้วก็จะเล่นในชั้นที่ ๒ ๒) การโคน หรือกล่าวอย่างเข้าใจคือ การเล่นสะบ้าบนเข่า ขั้นที่ ๒ เมื่อผู้เล่นผ่านขั้นแรกทุกคนจะเริ่มเล่นที่เมมโดน จะนั่งหรือยืนโคนก็ได้ จากนั้นนำสะบ้าวางบนเข่าแล้วยิงสะบ้าถ้าตกที่จุดใดให้เริ่มยิงสะบ้าจากจุดนั้น (ยิงเหมือนขั้นขัดทุกประการ) เมื่อยิงครบทุกคนผู้เล่นถึงจะเล่นขั้นที่ ๓ ต่อได้ ๓) ขั้นแถะ ขั้นนี้จะยืนหรือนั่งก็ได้ แต่วิธีการจะเป็นการหงายฝ่ามือข้างหนึ่ง แล้ววางสะบ้าบนฝ่ามือ จากนั้นใช้นิ้วที่ถนัดของอีกมือวางไว้ข้างหนึ่งวางไว้หลังสะบ้า แล้วใช้หัวแม่มือของมือที่ใช้วางสะบ้า งอรั้งนิ้วมือที่จะยิงไว้ ปล่อยนิ้วมือออกไปดีดสะบ้าออกไปให้กระแทกกับสะบ้าของคู่ต่อสู้ ออกจากจุดตั้งตามกำหนด อย่าให้เป็นสะบ้าตาย หากยิงครบทุกคนถึงจะผ่านไปยังขั้นสุดท้าย ๔) การเซิง เป็นการใช้เท้าเล่นตลอดการแข่งขัน วิธีคือนำสะบ้าวางไว้เท้าตรงส่วนไหนก็ได้ ส่วนใหญ่วางไว้ ตรงร่องนิ้วเท้า จากนั้นก้าวเท้าข้างที่ไม่มีสะบ้าออกไปหนึ่งก้าว แล้วยกเท้าข้างที่มีสะบ้าไปตามร่องสะบ้า ให้สะบ้าหลุดจากเท้าไปถูกสะบ้าคู่ต่อสู้ ให้กระเด็นออกจากจุดตั้งตามกำหนด หากในระหว่างการยกเท้าสะบ้าหลุดจากเท้าก่อนถึงหัวสะบ้าตั้งคู่ต่อสู้ (เมมตั้ง) เรียกว่า “สะบ้านอนทาง” ให้เริ่มใหม่ได้ไม่เกิน ๓ ครั้ง แต่ถ้าสะบ้าไปถูกสะบ้าคู่ต่อสู้แต่ยังไม่ออกจากจุดตั้งตามที่กำหนด ถือเป็น สะบ้าตาย หากมีผู้ที่จะมาเล่นแทน ต้องเรียกว่า เสาะหอย ในการเสาะหอยผู้เล่นไม่จำเป็นต้องยืนที่เมมเซิงก็ได้ เมื่อผู้เล่นทุกคนผ่านทั้ง ๔ ขั้น นับเป็น ๑ เมม ถึงจะมีสิทธิ์เล่นต่อในเมมที่ ๒ จนกว่าจะชนะในเมมที่ ๒ หากมีการเล่นผิดกติกาหรือเล่นในขั้นตอนนั้นไม่ผ่าน ถือว่าหมดสิทธิ์ในการแข่งขัน คู่ต่อสู้จะมีสิทธิ์ในการเล่นต่อไป การแข่งขันจะเล่นกันในรูปแบบนี้สลับกันจนฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเล่นผ่าน ๒ เมม และจะถือว่าเป็นผู้ชนะ |
แหล่งอ้างอิง | ปกิณกศิลปวัฒนธรรม เล่ม ๒๕ จังหวัดชัยภูมิ. กรุงเทพฯ : สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร,๒๕๖๒. โรงเรียนบ้านนาเกาะจัดแข่งขันโยนสะบ้าเพื่อสืบสานอนุรักษ์การละเล่นพื้นบ้าน, อีสานเดลี่ออนไลน์, สืบค้นจาก https://www.esandailyonline.com/2099. |